วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


Chapter 5

ระบบปฏิบัติการ (Operating System) คืออะไร
     ระบบปฏิบัติการคือ ซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่จัดการและควบคุมโปรแกรมประยุกต์และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงการติดต่อประสานงานกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ
ไบออส (BIOS – Basic Input Output System) รากฐานรองรับระบบปฏิบัติการ
      ไบออสเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคำสั่งที่บรรจุอยู่ในหน่วยความจำ ROM มีหน้าที่หลักคือควบคุมอุปกรณ์มาตรฐานในเครื่อง เช่น ซีพียู หน่วยความจำ ROM และ RAM ฯลฯ ไบออสทำให้ระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้งานเป็นอิสระจากอุปกรณ์

     ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้เก็บโปรแกรมไบออสจะเป็นวงจรหน่วยความจำแบบ Flash ROM ที่สามารถแก้ไขโปรแกรมได้ (แต่ไม่บ่อย) ซึ่งมักแก้ไขในกรณีที่พบปัญหาหรือข้อผิดพลาดในไบออส หรือมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญ ผู้ผลิตก็อาจออกไบออสรุ่นใหม่ให้ผู้ใช้แก้ไขได้

การเริ่มต้นทำงานของคอมพิวเตอร์ (Boot Up)
     ก่อนที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำงานได้นั้น จะต้องนำเอาระบบปฏิบัติการเข้าไปเก็บไว้ยังหน่วยความจำของเครื่องเสียก่อน กระบวนการนี้เราเรียกว่า  การบู๊ตเครื่อง (boot) นั่นเอง ซึ่งจะเริ่มทำงานทันทีตั้งแต่เปิดสวิทช์เครื่อง มีขั้นตอนที่พอสรุปได้ดังนี้ คือ

ภาพที่ 5.1 : ขั้นตอนการบู๊ตเครื่องในคอมพิวเตอร์

     1. พาวเวอร์ซัพพลายส่งสัญญาณไปให้ซีพียูเริ่มทำงาน power supply ทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าไปให้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์

     2. ซีพียูจะสั่งให้ไบออสทำงาน ซีพียูจะพยายามเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในไบออสเพื่อทำงานตามชุดคำสั่งที่เก็บไว้โดยทันทีที่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายมายังเครื่องคอมพิวเตอร์และมีสัญญาณให้เริ่มทำงาน

     3. เริ่มทำงานตามกระบวนการที่เรียกว่า POST เพื่อตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆ กระบวนการ POST ทำหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เช่น คีย์บอร์ดหรือเมาส์

     4. ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อยู่ในซีมอส หน่วยความจำที่เรียกว่า ซีมอส (CMOS – complementary metal oxide semiconductor) ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณเล็กน้อยในการหล่อเลี้ยงโดยใช้แบตเตอรี่ตัวเล็กๆ บนเมนบอร์ดเพื่อให้เครื่องจำค่าต่างๆ ไว้ได้

     5. ไบออสจะอ่านโปรแกรมสำหรับบู๊ตจากฟล็อปปี้ดิสก์ ซีดีหรือฮาร์ดดิสก์ ปัจจุบันไบออสรุ่นใหม่ๆ สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้บู๊ตเครื่องจากอุปกรณ์ตัวใดก่อนก็ได้

     6. โปรแกรมส่วนสำคัญจะถูกถ่ายค่าลงหน่วยความจำ RAM เมื่อไบออสรู้จักระบบไฟล์ของไดว์ที่บู๊ตได้แล้ว ก็จะไปอ่านโปรแกรมส่วนสำคัญของระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า เคอร์เนล (kernel) เข้ามาเก็บในหน่วยความจำหลักหรือ RAM ของคอมพิวเตอร์เสียก่อน
     7. ระบบปฏิบัติการในหน่วยความจำเข้าควบคุมเครื่องและแสดงผลลัพธ์ เคอร์เนลที่ถูกถ่ายโอนลงหน่วยความจำนั้นจะเข้าไปควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์โดยรวมและโหลดค่า configuration ต่างๆ พร้อมทั้งแสดงผลออกมาที่เดสก์ท็อปของผู้ใช้เพื่อรอรับคำสั่งการทำงานต่อไป
ประเภทของการบู๊ตเครื่อง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน
     - โคลด์บู๊ต (Cold boot) เป็นการบู๊ตเครื่องที่อาศัยการทำงานของฮาร์ดแวร์ โดยการกดปุ่มเปิดเครื่อง (power on) แล้วเข้าสู่กระบวนการทำงานโดยทันที
     - วอร์มบู๊ต (Warm boot) เป็นการบู๊ตเครื่องโดยทำให้เกิดกระบวนการบู๊ตใหม่หรือที่เรียกว่า การรีสตาร์ทเครื่อง (restart) โดยมากจะใช้ในกรรีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ จึงต้องมีการบู๊ตเครื่องกันใหม่ สามารถทำได้ 3 วิธีคือ
          1. กดปุ่ม Reset บนเครื่อง (ถ้าที)
          2. กดคีย์ Ctrl + Alt + Delete จากแป้นพิมพ์ แล้วเลือกคำสั่ง restart จากระบบปฏิบัติการที่ใช้
          3. สั่งรีสตาร์ทเครื่องจากเมนูบนระบบปฏิบัติการ

ส่วนประสานงานกับผู้ใช้ (User Interface) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
     - ประเภทคอมมานด์ไลน์ (command Line) เป็นส่วนประสานงานกับผู้ใช้ที่อนุญาตให้ป้อนรูปแบบคำสั่งที่เป็นตัวหนังสือ (text) สั่งการลงไปด้วยตนเองเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการทีละบรรทัดคำสั่งหร อ คอมมานด์ไลน์ (command line) 
     - ประเภทกราฟิก (GUI – Graphical User Interface) เป็นการพัฒนาระบบสั่งงานคอมพิวเตอร์แบบใหม่โดยปรับมาใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ในการสั่งงานแทน บางครั้งนิยมเรียกระบบนี้ว่า กิวอี้ ระบบนี้ผู้ใช้อาจไม่จำเป็นต้องจดจำรูปแบบคำสั่งเพื่อใช้งานให้ยุ่งยากเหมือนกับแบบคอมมานด์ไลน์ โดยเพียงแค่เลือกรายการคำสั่งภาพที่ปรากฏบนจอนั้นผ่านอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เมาส์หรือคีย์บอร์ด เป็นต้น      
การจัดการกับไฟล์ (File Management)    
     ความหมายของไฟล์ (Files)
     ไฟล์ (File) เป็นหน่วยในการเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ อาจจะเก็บอยู่ในสื่อเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ และจะอ้างอิงถึงได้ โดยระบุชื่อไฟล์และส่วนขยายตามกติกาดังนี้
     - ชื่อไฟล์ (file name) ในระบบปฏิบัติการรุ่นแรกๆ สามารถตั้งได้ไม่เกิน 8 อักขระเท่านั้น แต่การใช้งานกับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ เช่น windows สามารถตั้งชื่อไฟล์ไดมากถึง 256 อักขระ
     - ส่วนขยาย (extensions) ช่วยให้ระบบปฏิบัติการเข้าใจรูปแบบหรือชนิดของไฟล์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยอักขระประมาณ 3-4 ตัว เขียนเพิ่มต่อจากชื่อไฟล์ คั่นด้วยเครื่องหมายจุด (.) เทียบไดกับนามสกุลของไฟล์ 
     โดยทั่วไปไฟล์จะมีชื่อซ้ำกันได้ ถ้าคนละส่วนขยาย แต่จะซ้ำทั้งสองอย่างไม่ได้ เช่นเดียวกับคนซึ่งไม่ควรมีทั้งชื่อและนามสกุลซ้ำกัน

     ลำดับโครงสร้างไฟล์ (Hierarchical File System)

     ระบบปฏิบัติการจะจัดเก็บข้อมูลที่มีโครงสร้างแบบลำดับชั้นทำนองเดียวกับการสืบทอดสายพันธ์ของมนุษย์ ที่มีโครงสร้างถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแตกย่อยออกไปเรื่อยๆ โครงสร้างแบบนี้บางครั้งนิยมเรียกว่า โครงสร้างแบบต้นไม้ (tree-like structure)
ภาพที่ 5.2 โครงสร้างแบบต้นไม้ในการสืบทอดพันธุกรรมของมนุษย์

     ในระบบปฏิบัติการ เมื่อต้องการเก็บข้อมูลก็จะมีการจัดเก็บไฟล์ที่แยกโครงสร้างออกเป็นส่วนๆ เหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้แต่ละกิ่งเรียกว่า “โฟลเดอร์ (folder)” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อยดังนี้
     1. ไดเร็คทอรี (Directory) เป็นโฟลเดอร์หลักสำหรับจัดเก็บหมวดหมู่ไฟล์ขั้นสูงสุดในระบบ บางครั้งอาจเรียกว่า root directory สำหรับใน windows จะมี root directory ของแต่ละไดรว์แยกกัน เช่น C:\ คือ root directory ของไดรว์ C:
     2. ซับไดเร็คทอรี (Sub-Directory) เป็นโฟลเดอร์ย่อยที่ถูกแบ่งและจัดเก็บไว้ออกมาอีกชั้นหนึ่ง โดยที่เราสามารถเอาข้อมูลหรือไฟล์จัดเก็บลงไปในซับไดเร็คทอรีได้เช่นเดียวกัน และยังสามารถแบ่งหรือสร้างซับไดเร็คทอรีย่อยๆ ลงไปอีกได้ไม่จำกัด เสมือนกับการแผ่กิ่งก้านสาขาของต้นไม้ เป็นต้น
ภาพที่ 5.3 โครงสร้างแบบต้นไม้ในระบบปฏิบัติการ
     โดยทั่วไประบบปฏิบัติการจะมีคำสั่งสำหรับจัดการกับไฟล์ข้อมูลในเครื่องให้ผู้ใช้เรียกทำงาน อาจจะผ่านส่วนประสานงานกับผู้ใช้แบบคอมมานด์ไลน์หรือกิวอี้ คำสั่งจัดการไฟล์เบื้องต้นที่ควรรู้จักมีดังนี้




การจัดการหน่วยความจำ (Memory Management)
     ในการประมวลผลกับข้อมูลที่มีปริมาณมากหรือทำงานหลายๆ โปรแกรมพร้อมกัน หน่วยความจำหลักประเภท RAM อาจมีเนื้อที่ไม่พอใช้เก็บข้อมูลในขณะประมวลผลได้ ระบบปฏิบัติการจะแก้ปัญหานี้โดยวิธีที่เรียกว่า หน่วยความจำเสมือน (VM – virtual memory) โดยใช้เนื้อที่ของหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เช่น ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมีความจุข้อมูลมากกว่า RAM เก็บข้อมูลทั้งหมดของโปรแกรมที่ทำงานอยู่ขณะนั้นเอาไว้เป็นไฟล์ในฮาร์ดดิสก์ และแบ่งเนื้อที่เหล่านั้นออกเป็นส่วนๆ เรียกว่า เพจ (page) ซึ่งมีการกำหนดไว้แน่นอน
     จากนั้นระบบปฏิบัติการจะเลือกโหลดเอาเฉพาะข้อมูลในเพจที่กำลังจะใช้นั้นเข้าสู่หน่วยความจำ RAM จนกว่าจะเต็ม หลังจากนั้นหากยังมีความต้องการใช้เนื้อที่ของ RAM เพิ่มอีก ก็จะจัดการถ่ายเทข้อมูลบางเพจที่ยังไม่ใช้ในขณะนั้นกลับออกไปไว้ในหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เพื่อให้ RAM มีเนื้อที่เหลือว่างสำหรับนำข้อมูลเพจใหม่ที่จะต้องใช้ในขณะนั้นเข้ามาแทนและสามารถทำงานต่อไปได้
ภาพที่ 5.4 การจัดการหน่วยความจำแบบที่เรียกว่า swapping

การจัดการอุปกรณ์นำเข้าและแสดงผลข้อมูล (I/O Device Management)
     การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์นั้น อุปกรณ์นำเข้ามากกว่าหนึ่งตัวสามารถส่งข้อมูลเข้าไปยังระบบปฏิบัติการได้พร้อมๆ กัน ระบบปฏิบัติการก็อาจต้องการส่งข้อมูลหลายๆ โปรแกรมไปยังอุปกรณ์แสดงผลด้วยเช่นกัน อัตราการรับ – ส่งข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์มีความเร็วต่ำกว่าซีพียูมาก ระบบปฏิบัติการจึงต้องเตรียมพื้นทีส่วนหนึ่ง จะเป็นในหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสก์ก็ตาม เรียกว่า บัฟเฟอร์ (buffer) เพื่อเป็นที่พักรอของข้อมูลที่อ่านเข้ามาหรือที่เตรียมส่งออกไปยังอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ
     สำหรับในกรณีของเครื่องพิมพ์ ข้อมูลที่สั่งพิมพ์นั้นมีขนาดใหญ่มาก หรือสั่งพิมพ์หลายๆ งานพร้อมกัน เครื่องพิมพ์จะพิมพ์งานตามลำดับไปทีละงาน จะสลับหรือผสมกันไม่ได้ จึงต้องกันที่ในฮาร์ดดิสก์ไว้พักข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดก่อน วิธีนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า การทำ spooling ซึ่งระบบจะเก็บงานที่สั่งพิมพ์ต่างๆ รวมไว้และจัดคิวที่จะส่งไปยังเครื่องพิมพ์ตามลำดับเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมา

ภาพที่ 5.5 การจัดคิวข้อมูลในการพิมพ์

การจัดการกับหน่วยประมวลผลกลาง (CPU Management)
     ระบบปฏิบัติการมีความสามารถในการทำให้ซีพียูตัวเดียวทำงานให้กับผู้ใช้ได้หลายๆ คนในเวลาเดียวกัน (multi - user) ซีพียูให้บริการโดยแบ่งเวลาการทำงานของซีพียูออกเป็นช่วงๆ ให้กับผู้ใช้แต่ละคน โดยที่แต่ละคนจะไม่ทราบเลยว่าซีพียูได้แบ่งเวลาไปทำงานของคนอื่นๆ ด้วย เพราะการสลับงานนี้จะเร็วมากจนผู้ใช้แทบจะไม่ทันสังเกต
ภาพที่ 5.6 การทำงานแบบแบ่งเวลาใช้งานในระบปฏิบัติการ

      นอกจากนั้น ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้มีการประมวลผลที่เร็วมายิ่งขึ้น จะมีการใช้ซีพียูมากกว่าหนึ่งตัวเข้ามาทำงานร่วมกันหรือเรียกว่า multi – processing ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้หลายๆ คำสั่งงานในเวลาเดียวกัน
     ข้อดี ของการทำงานด้วย multi – processing ยังมีประโยชน์อีกในแง่หนึ่งว่า ถ้าหากซีพียูตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็ยังมีตัวอื่นอีกที่สามารถทำงานแทนกันได้ 
การรักษาความปลอดภัยของระบบ
     ปกติการทำงานของระบบปฏิบัติการ จะต้องมีความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและตัวเครื่องนั้นๆ เองได้ในระดับหนึ่ง เช่น ในขั้นตอนการ logon จะเป็นการตรวจสอบสิทธิ์การเข้าใช้เครื่องของผู้ที่ของอนุญาตเข้ามา โดยจะนำเข้าชื่อและรหัสผ่านของผู้ขออนุญาตไปสืบค้น 
ภาพที่ 5.7 การ logon โดยระบุชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนเข้าใช้ระบบ นับเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นต้น


การตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของระบบ
     ระบบปฏิบัติการควรมีความสามารถที่จะวัดค่าประสิทธิภาพบางอย่างในการทำงานของเครื่อง เช่น การใช้เวลาของซีพียู หรือตรวจสอบเวลาของซีพียูที่ถูกปล่อยว่างในการทำงาน
ตัวอย่างเช่น ในระบบปฏิบัติการ windows รุ่นใหม่ๆ จะมีโปรแกรมที่เรียกว่า System Performance สำหรับตรวจสอบระบบ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถทราบสถานการณ์ทำงานและเป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจมีขึ้นได้

ภาพที่ 5.8 ยูทิลิตี้ System Performance ในการตรวจสอบสถานะการทำงานของระบบ


ข้อมูล : หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้เขียน : วิโรจน์  ชัยมูล,  สุพรรษา  ยวงทอง



แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 5
1. cross – platform application คืออะไร จงอธิบาย
    ตอบ โปรแกรมประยุกต์ที่สนับสนุนการทำงานบนระบบปฏิบัติการได้หลายๆตัว ซึ่งทำให้การใช้งานมี
ความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะมีการติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ไม่เหมือนกัน
การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เพื่อให้ทำงานข้ามแพลตฟอร์มหรือข้ามระบบปฏิบัติการได้ จึงเป็นทางเลือก
ให้กับผู้ใช้ได้ได้ดีพอสมควร

 2. device driver มีประโยชน์อย่างไรต่อการทำงานกับคอมพิวเตอร์
     ตอบ มีประโยชน์ในการช่วยให้คอมพิวเตอร์รู้จักกับอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งหลายที่เชื่อมต่อเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ชนิดนั้นราบรื่นและสามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด เมื่อถอด ย้ายหรือติดตั้งอุปกรณ์ต่อพ่วงนั้นเข้ากับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นใหม่อีก ก็สามารถใช้ device driver นี้ติดตั้งเพื่อให้เครื่องอื่นๆรู้จักและติดต่อสื่อสารได้อีกเช่นกัน ปกติผู้ผลิตจะแนบตัวโปรแกรมเหล่านี้มาพร้อมกับการซื้ออุปกรณ์แล้วในครั้งแรก

3. เสียงสัญญาณที่คอมพิวเตอร์ตอบสนองออกมาสั้นบ้าง ยาวบ้างนั้นเกิดจากกระบวนการในขั้นตอนใด และเหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น
     ตอบ เกิดขึ้นในช่วงขั้นตอนที่เรียกว่า POST หรือ power on self test เพื่อตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด แรม ซีพียูรวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เช่น คีย์บอร์ดหรือเมาส์ โดยจะส่งสัญญาณเป็นเสียงสั้นยาวต่างกัน เมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

4. ประเภทของการบู๊ตเครื่องมีกี่ประเภท อะไรบ้าง จงอธิบาย
    ตอบ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
           - โคลบู๊ต (cold boot) เป็นการบู๊ตเครื่องที่อาศัยการทำงานของฮาร์ดแวร์ โดยการกดปุ่มเปิดเครื่อง (power on) แล้วเข้าสู่กระบวนการทำงานโดยทันที ปุ่มเปิดเครื่องจะทำหน้าที่เหมือนเป็นสวิตช์ปิดเปิดการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเหมือนกับสวิตช์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป
           - วอร์มบู๊ต (warm boot) เป็นการบู๊ตเครื่องโดยทำให้เกิดกระบวนการบู๊ตใหม่หรือที่เรียกว่า การรีสตารท์เครื่อง (restart) โดยมากจะนิยมใช้ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ สามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกันคือ
              1. กดปุ่ม Reset บนตัวเครื่อง
              2. กดปุ่ม Ctrl+Alt+Delete จากแป้นพิมพ์
              3. สั่งรีสตารท์เครื่องได้จากเมนูบนระบบปฏิบัติการได้เลย

 5. จงบอกถึงความแตกต่างระหว่างส่วนประสานกับผู้ใช้แบบ Command line และแบบ GUI มาพอสังเขป
    ตอบ ส่วนประสานงานแบบ command line จะสนับสนุนให้ผู้ใช้ป้อนข้อมูลคำสั่งด้วยตัวอักษรเพียงเท่านั้น จึงเหมาะกับผู้ที่มีความชำนาญในการใช้งานพอสมควร เนื่องจากต้องจดจำรูปแบบคำสั่งได้ดี สำหรับส่วนประสานงานกับผู้ใช้แบบกราฟฟิกหรือ GUI จะสนับสนุนการทำงานแบบรูปภาพคำสั่งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องจำคำสั่งตัวอักษรเหล่านั้น ผู้ใช้เพียงแค่เลือกรายการคำสั่งภาพที่ปรากฎบนจอ ก็สามารถสั่งการให้ทำงานได้ตามต้องกา

6. โครงสร้างแบบต้นไม้ คืออะไร เกี่ยวข้องกับโครงสร้างไฟล์ในคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง
    ตอบ Treelike structure หรือโครงสร้างแบบต้นไม้ เป็นรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลแบบลำดับชั้นนิยมใช้สำหรับการจัดการโครงสร้างไฟล์ในระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำโดยแยกออกเป็นส่วนๆเรียกว่า โฟลเดอร์ เหมือนเป็นกิ่งก้านและแตกสาขาไปได้อีก



7. ส่วนประกอบย่อยของไฟล์ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง จงยกตัวอย่างไฟล์มาอย่างน้อย 5 รูปแบบพร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าแต่ละรูปแบบมีความหมายเช่นไร
    ตอบ ประกอบด้วยส่วนย่อย 2 ส่วน คือ ชื่อไฟล์ (naming files) และส่วนขยาย (extentions) ยกตัวอย่างไฟล์ 5 รูปแบบได้ดังนี้
           - myprofile.doc ไฟล์ที่ใช้เรียกมีชื่อว่า myprofile นามสกุลหรือส่วนขยายคือ doc ซึ่งเป็นไฟล์ประเภทเอกสารงานนั่นเอง (document)
           - report.xls ไฟล์ที่ใช้เรียกมีชื่อว่า report นามสกุลหรือส่วนขยายคือ xls ซึ่งเป็นไฟล์ประเภทตารางคำนวณพบเห็นได้กับการใช้งานในโปรแกรม Microsoft Excel
           - present.ppt ไฟล์ที่ใช้เรียกมีชื่อว่า present นามสกุลหรือส่วนขยายคือ ppt เป็นไฟล์ที่ใช้สำหรับงานนำเสนอข้อมูล สร้างจากโปรแกรม Microsoft PowerPoint
           - about.htm ไฟล์ที่ใช้เรียกมีชื่อว่า about นามสกุลหรือส่วนขยายคือ htm ซึ่งเป็นไฟล์ที่เขียนด้วยภาษา HTML ที่ใช้สำหรับการแสดงผลบนเว็บเพจ
           - message.txt ไฟล์ที่ใช้เรียกมีชื่อว่า message นามสกุลหรือส่วนขยายคือ txt ซึ่งเป็นไฟล์ประเภทข้อความ มักสร้างจากโปรแกรมประเภท editor ทั่วไป

8. หน่วยความจำเสมือนเกี่ยวข้องกับการจัดการหน่วยความจำอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
    ตอบ หน่วยความจำเสมือนหรือ virtual memory จะเป็นหน่วยความจำที่ทำงานเหมือนกับ RAM โดยใช้เนื้อที่ส่วนของหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เช่น ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมากกว่า มาเก็บของส่วนงานทั้งหมดไว้เพื่อเอามาช่วยการทำงานของ RAM เมื่อต้องประมวลผลงานที่มากขึ้น โดยจะแบ่งงานที่มีอยู่ออกเป็นส่วนๆ เรียกว่า page ซึ่งจะมีขนาดที่แน่นอน เมื่อใดที่ต้องการประมวลผล ก็จะเลือกเอาเฉพาะเพจที่ต้องการเข้าสู่หน่วยความจำ RAM จนกว่าข้อมูลใน RAM เต็มจึงจะจัดการถ่ายเทข้อมูลดังกล่าวกลับไปไว้ในหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เพื่อให้ RAM มีเนื้อที่เหลือว่างและทำงานต่อไปได้ ทำให้หน่วยความจำสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

9. spolling ที่เกิดขึ้นในการพิมพ์งาน มีหลักการอย่างไรบ้าง
   ตอบ หลักการจะอาศัยพื้นที่ส่วนหนึ่งของฮาร์ดดิสก์ ใช้เก็บข้อมูลที่อ่านเข้ามาไว้ก่อนที่จะส่งไปที่เครื่องพิมพ์ เพราะการเก็บข้อมูลไว้ที่ฮาร์ดดิสก์ก่อนจะทำได้เร็วกว่าการเขียนข้อมูลไปที่เครื่องพิมพ์โดยตรง ซึ่งทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับการพิมพ์งานพร้อมกันทีเดียวในสำนักงานทั่วไป เพราะสามารถจัดคิวเพื่อส่งพิมพ์ผลลัพธ์ได้ตามลำดับก่อนหลัง

10. ระบบ plug and play คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อการทำงาน
     ตอบ เป็นคุณสมบัติใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในระบบปฏิบัติการบางตัว เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้ใช้เพียงแค่เชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านั้นเข้ากับคอมพิวเตอร์ (plug) ก็สามารถใช้งานได้เลยทันที (play)

11. multi-processing คือการประมวลผลงานลักษณะใด มีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง จงอธิบายพอสังเขป
     ตอบ เป็นการทำงานเพื่อให้ประมวลผลเร็วขึ้น โดยใช้ซีพียูที่มากกว่าหนึ่งตัวเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้หลายๆคำสั่งงานในเวลาเดียวกัน โดยที่ระบบปฏิบัติการจะทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของซีพียูที่มากกว่าหนึ่งตัวนี้ให้ทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ซีพียูตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็ยังสามารถทำงานแทนกันได้






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น